✏️ยิ่งใช้หน้าจอมาก สมองเด็กจะยิ่งอ่านหนังสือได้แย่ลงหรือเปล่า?
ปัจจุบันนี้เรากำลังกังวลเรื่อง screen time (เวลาหน้าจอ) หมายถึงเวลาที่เราใช้ในกับหน้าจอทุกชนิด ทั้งสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ แทบเล็ต และทีวี ทุกวันนี้เด็กไทยใช้เวลาหน้าจอถึง 35 ชม./สัปดาห์ หรือเฉลี่ย 5 ชม./วัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชม....... แล้วมันเดือดร้อนตรงไหน ??
📍หนึ่งในปัญหาที่เราพบ จากการใช้หน้าจอในเด็กวัยประถม คือ “ยิ่งเด็กใช้หน้าจอมาก สมองเด็กอาจจะยิ่งอ่านหนังสือได้แย่ลง”
นักวิจัยจาก Cincinnati Children’s Hospital ทำการสแกนสมองเด็ก ป.2-6 อายุ 8-12 ปี ได้พบว่า
🍏ยิ่งเด็กใช้เวลาหน้าจอมากเท่าไหร่ วงจรสมองที่ทำงานด้านการอ่าน ก็จะทำงานประสานกันลดลง ซึ่งนักวิจัยคิดว่า ที่สมองเป็นแบบนี้ น่าจะทำให้เด็กๆ อ่านหนังสือได้แย่ลง อ่านเข้าใจเรื่องได้ช้า นึกภาพเรื่องที่อ่านนั้นไม่ออก
🍎ตรงกันข้าม ยิ่งเด็กใช้เวลาอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ มาก ก็ทำให้สมองที่ทำหน้าที่โดยตรงในการอ่าน ประสานงานกันได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้เด็กมีทักษะการอ่านที่ดี นั่นหมายความว่า ในวัยเด็ก ยิ่งเราอ่านหนังสือ เรายิ่งอ่านเก่งขึ้น แต่ยิ่งใช้เวลากับหน้าจอมากขึ้น ยิ่งอ่านได้แย่ลง
แล้วเด็กควรจะใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเท่าไหร่?
📍 เวลาหน้าจอที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก และสถาบันกุมารแพทย์อเมริกัน มีดังนี้
👉เด็กอายุต่ำกว่า 1.5 ขวบ ควรหลีกเลี่ยงหน้าจอ ยกเว้นการวิดีโอคอล
👉เด็กอายุ 1.5-2 ขวบ ควรหลีกเลี่ยงหน้าจอเช่นกัน ถ้าจะใช้จริงๆ ก็ควรได้ใช้หน้าจอร่วมกับพ่อแม่ และต้องมีการพูดคุยและเล่นกัน (เรียกว่า การ co-view และ co-play) เด็กถึงจะเรียนรู้อะไรจากหน้าจอนั้นได้
👉เด็กอายุ 2-5 ขวบ ควรจำกัดเวลาใช้อยู่ที่ 1 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งน้อยยิ่งดี และเนื้อหานั้นจะต้องมีความเหมาะสมสำหรับเด็ก
👉เด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไป ไม่มีคำแนะนำว่าควรจำกัดเวลาอยู่ที่เท่าไหร่ เพียงแต่บอกว่า ไม่ควรมากเกินไป เช่น ตกลงกันว่าจะใช้วันละกี่ชั่วโมง ให้มีเวลานอนหลับ ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพอย่างเพียงพอ ไม่ใช้หน้าจอในห้องนอนและก่อนนอน เพราะการใช้หน้าจอใกล้เวลานอน จะรบกวนการหลับของเด็ก
แต่ว่า!!
📍มีคนวิจารณ์เหมือนกันว่า คำแนะนำนี้โบราณไปหน่อย (conservative) จริงๆแล้วเราก็อาจจะรู้น้อยไปว่าหน้าจอมีผลต่อสมองเด็กอย่างไร เพราะหน้าจอพึ่งเริ่มเข้ามาในชีวิตเด็กได้เพียง 10 ปี อย่าลืมว่า ไอโฟนออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในปี 2007 และ และเด็กๆ ที่โตมากับหน้าจอตั้งแต่แบเบาะ ขณะนี้อายุประมาณ 13 ปีและอยู่ในชั้นม.1 มีผู้ถกเถียงว่า หน้าจอมีข้อดีมากมาย เพราะเด็กได้ปฏิสัมพันธ์กับมัน ถ้าเนื้อหาที่ถูกผลิตออกมาเหมาะกับเด็ก แล้วมันจะมีปัญหาอะไร จึงมีคนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่า ให้แค่ 1-2 ชั่วโมงนั้นอาจจะน้อยเกินไป แต่นี่เขาก็มีข้อแม้ว่า เนื้อหาต้องดี นี่สิเรื่องยากที่สุด อย่างไรก็ตาม คำแนะนำนี้ก็อาจจะเปลี่ยนอีกในอนาคต เมื่อมีงานวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับสมองเด็กออกมาค่ะ จึงต้องติดตามกันต่อไปแบบปีต่อปีเลยค่ะ
### ฉัตรียา เลิศวิชา นักวิชาการด้าน Mind Brain and Education